วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ


เพื่อให้การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คล่องตัว สะดวกรวดเร็ว บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิผลสูงสุดจึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ ดังนี้


                   1. ขั้นตอนการจดทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการ ดังนี้
                        1.1 จัดทำประกาศและประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ผู้ที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไปมาจดทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป ภายในเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกาบนของทุกปี
                        1.2 กำหนดวันรับจดทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไปภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
                        1.3 ตรวจสอบรายชื่อ/คุณสมบัติ/หลักฐานผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
                        1.4 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป ภายในวันที่ 7 มกราคมของทุกปี
                        1.5 รวบรวมจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป ส่งให้สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 14 มกราคมของทุกปี
                        1.6 เริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นต้นไป และจะได้รับทุกเดือนรายละ 500 บาท/เดือน
                   2.  คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
                        2.1 มีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
                        2.2 มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ในกรณีที่ทะเบียนราษฎร์ระบุเฉพาะปีเกิดให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดในวันที่1 มกราคมของปีนั้น)
                        2.3 ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการ และผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยและระเบียบกรุงเทพมหานคร
                   3.  ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซึ่งต้องมาด้วยตนเองหรือในกรณีมีความจำเป็นไม่สามารถมาจดทะเบียนด้วยตนเองได้ ผู้สูงอายุสามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้ โดยต้องกรอกรายละเอียดในแบบคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (เอกสารหมายเลข 1) และต้องนำหลักฐานเอกสารแสดงตน ดังนี้
                        3.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย พร้อมสำเนา
                        3.2 ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา
                        3.3 สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมสำเนา สำหรับในกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประสงค์ขอรับเงินผ่านธนาคาร
                        3.4 หนังสือมอบอำนาจ (เอกสารหมายเลข 2) พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ในกรณียื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน)
 

ปฏิทินขั้นตอนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

1. หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
   1.1 ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่  ประกอบด้วย
          1) จัดทำประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุทราบสิทธิของตนเอง
          2) ลงทะเบียนตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด (ในวันและเวลาราชการ)
          3) ให้ผู้สูงอายุละทะเบียน ตามแบบที่กำหนด (แบบคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) ด้วยตนเอง หรือในกรณีมีความจำเป็นไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ ผู้สูงอายุสามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้
          4) ตรวจสอบหลักฐาน/คุณสมบัติผู้มีสิทธิจากข้อมูลทะเบียนราษฎร
          5) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (บริเวณสำนักงานเขต)
          6) รวบรวมจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่งให้สำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 14 มกราคม ของทุกปี
          7) การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 500.- บาท โดยมี 2 แนวทาง ดังนี้
" โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
" โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นลายลักษณ์อักษร
1.2 ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
          1) ผู้ยื่นคำขอ หมายถึง ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งต้องมาด้วยตนเอง หรือในกรณีมีความจำเป็นไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ ผู้สูงอายุสามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้
          2) กรอกในคำขอตามแบบที่กำหนด และยื่นคำขอต่อผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พฤศจิกายนของทุกปี ในวันและเวลาราชการ ณ สถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
          3) หลักฐานประกอบการจดทะเบียน มีดังนี้
" บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย พร้อมสำเนา
" ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา
" สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมสำเนา สำหรับในกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ประสงค์ขอรับเงินผ่านธนาคาร
                   ในกรณีมีความจำเป็นที่ไม่สามารถมาลงทะเบียนได้ ผู้สูงอายุอาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนก็ได้
                   ในกรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพย้ายทะเบียนบ้าน หากมีความประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพต้องลงทะเบียนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ใหม่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยจ่ายเดิมต้องดำเนินการจ่ายจนสิ้นสุดปีงบประมาณนั้น ๆ ไป
" หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
(ในกรณียื่นคำขอฯ แทน)
          4) การแจ้งความจำนงรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
" โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
" โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นลายลักษณ์อักษร

ถาม-ตอบไขข้อข้องใจ

ถาม - กรณีผู้สูงอายุย้ายทะเบียนบ้านและไปลงทะเบียนใหม่ โดยรับเงินซ้ำซ้อน ซึ่งสำนักงาน
เขตได้ทำหนังสือทวงถามแต่ไม่นำเงินส่งคืนสำนักงานเขต จะสามารถดำเนินการได้อย่างไรและโดยวิธีใด

                   ถาม - กรณีผู้สูงอายุเสียชีวิตลงและตรวจสอบพบในภายหลัง ซึ่งสำนักงานเขตได้มีหนังสือทวงถามขอให้นำเงินส่งคืนสำนักงานเขต โดยมีผลในเดือนที่ผู้สูงอายุได้เสียชีวิตลง ซึ่งทายาทบางรายได้รับทราบ แต่ไม่มาติดต่อส่งเงินคืน สำนักงานเขตจึงได้ขออายัดเงินในบัญชีของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตหรือของผู้รับมอบอำนาจ โดยขอให้ธนาคารดำเนินการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากผู้สูอายุที่เสียชีวิตหรือของผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เป็นบางรายแต่บางรายไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทายาทได้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากไปแล้ว จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร และโดยวิธีใด
                   ตอบ  สำนักงานกฎหมายและคดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติ
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งผู้สูงอายุต้องมารับเงินด้วยตนเองหรือหากไม่สามารถมาได้ต้องมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับ หรือเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีผู้สูงอายุหรือบัญชีของผู้รับมอบหมายและให้ระงับการจ่ายเงินเมื่อผู้สูงอายุถึงแก่กรรม โดยฝ่ายทะเบียนต้องสรุปรายงานผู้สูงอายุที่ถึงแก่กรรมให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนทุกวันที่ 1 ของเดือน เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิและใช้เป็นหลักฐานประกอบฎีกาเบิกจ่ายเงิน ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้สูงอายุเสียชีวิตลงจึงต้องระงับการจ่ายเงินหากมีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพไปแล้ว ต้องฟ้องร้องเรียกติดตามเอาคืนจากทายาทหรือผู้ที่ได้รับมอบฉันทะ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุย้ายทะเบียนบ้านและไปลงทะเบียนใหม่ก็สามารถฟ้องเรียกติดตามเอาทรัพย์คืนได้เช่นกัน โดยสำนักงานเขตต้องมีหนังสือทวงถามไปยังผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ผู้รับมอบฉันทะ หรือทายาท ให้ส่งเงินคืนภายในเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วไม่มีการส่งเงินคืน ก็ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานกฎหมายและคดีดำเนินการ.

ถาม - ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพ จะลงทะเบียนได้เมื่อไรและจะได้รับเงิน
เบี้ยยังชีพย้อนหลังหรือไม่

                   ตอบ ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์และยังไม่เคยลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพรวมถึงผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ในปี ๒๕๕๖ (เกิดก่อน ๑ ตุลาคม ๒๔๙๕) สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ น.ถึง เวลา ๑๖.๐๐ น. เว้นวันหยุดราชการ เอกสารที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้
กรณีผู้สูงอายุไปยื่นเรื่องเอง
๑.      บัตรประชาชนใบจริงพร้อมสำเนา ๑ ฉบับ ของผู้สูงอายุและเซ็นรับรองสำเนา
๒.      ทะเบียนบ้านฉบับจริงพร้อมสำเนา ๑ ฉบับ ของผู้สูงอายุและเซ็นรับรองสำเนา
๓.      สมุดเงินฝากธนาคารกรุงไทยประเภทออมทรัพย์ฉบับจริงพร้อมสำเนา ๑ ฉบับ
กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นแทน   ผู้สูงอายุต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากผู้สูงอายุให้ผู้อื่นยื่นแทนพร้อมพยานเซ็นรับอง ๒ คน และเอกสารบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจทั้งใบจริงและสำเนา  หากโอนเข้าบัญชีของผู้รับมอบอำนาจต้องมีสำเนาสมุดเงินฝากธนาคารกรุงไทยประเภทออมทรัพย์ มายื่นด้วย
หมายเหตุ
                   สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารต้องเป็นประเภทออมทรัพย์เท่านั้น

ถาม -  ผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพสามารถเปลี่ยนแปลงการรับเงินได้หรือไม่
ตอบ   สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยขอรับเอกสารใบขอเปลี่ยนแปลงสิทธิการรับเงินได้ที่ฝ่าย
พัฒนาชุมชนฯ ชั้น ๓ เขตบางกอกน้อย และกรอกข้อความในเอกสารให้ครบถ้วนพร้อมแนบ เอกสารดังนี้
๑.      บัตรประชาชนของผู้สูงอายุใบจริงและสำเนา
๒.      บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบใบจริงพร้อมสำเนา
๓.       หนังสือมอบอำนาจ กรณีโอนเงินเบี้ยยังชีพเข้าบัญชีของผู้รับมอบ
๔.      สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ของผู้สูงอายุเองหรือของผู้รับมอบแล้วแต่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่   ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตบางกอกน้อย
โทร ๐ ๒๔๒๔ ๐๐๕๖ ต่อ ๕๖๘๙   ในวันและเวลาราชการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น